วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

นอนกรน (ภาค 2)



           คลินิกหมอกิตติพันธุ์ – หมออมราภรณ์ สวัสดีค่ะ  สำหรับวันนี้จะมาพูดถึงเรื่องการผ่าตัดรักษาอาการนอนกรนกันนะคะ ฟังดูอาจเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่ถ้าลองศึกษากันดูดีๆ แล้ว วิวัฒนาการสมัยใหม่ ไม่มีอะไรที่น่ากลัวอีกต่อไปเลยค่ะ อีกทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางปัจจุบันมีมากมาย เราสามารถจัดการกับอาการเหล่านี้ได้อย่างง่ายดายเลยทีเดียวค่ะ

การผ่าตัดรักษานอนกรนทำอย่างไรบ้าง
               การผ่าตัดแก้ไขทางเดินหายใจอุดตันขณะนอนหลับ แพทย์จะแก้ไขให้ตรงตำแหน่งที่มีการอุดตัน ซึ่งอาจมีอยู่หลายแห่ง แต่ที่สำคัญมีอยู่ 2 ตำแหน่งคือ บริเวณหลังเพดานอ่อน และบริเวณหลังโคนลิ้น โดยการผ่าตัดมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้ทางเดินหายใจทุกแห่งที่แคบกว้างขึ้น ไม่เกิดการอุดตันขณะนอนหลับอีก ไม่ใช่เพียงแต่ลดเสียงกรนอันน่ารำคาญ เท่านั้น และยังมีการผ่าตัดอย่างอื่นอีกทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งที่เป็นปัญหาได้แก่
-        การผ่าตัดเอาต่อมทอนซิล และ/หรือ ต่อมอะดินอยด์
-         การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน (Uvulopalatopharyngoplasty)
-        การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อนโดยเลเซอร์ (LASER-assisted Uvulopalatoplasty)
-         การผ่าตัดเลื่อนคางเพื่อดึงกล้ามเนื้อลิ้นมาด้านหน้า (Mandibular Osteotomy and     Genioglossus Advancement)
-        การผ่าตัดเลื่อนขากรรไกรบนและล่างมาทางด้านหน้า (Bimaxillary Advancement)
-         การผ่าตัดอื่นๆ
-        การใช้คลื่นความถี่สูง (Radiofrequency Volume Reduction หรือ Somnoplasty)
-        การผ่าตัดโพรงจมูก

ข้อมูลจากคลินิกนอนกรน ร.พ.จุฬาลงกรณ์