วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

เข้าใจผลข้างเคียง 'คีโม' รักษามะเร็ง



เข้าใจผลข้างเคียง 'คีโม' รักษามะเร็ง

            ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่หลังได้เห็นภาพจากละครทีวี เชื่อว่า ผลข้างเคียงจากการได้รับยาเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งนั้น ทำให้ผู้ป่วยทรมาน ผมร่วง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจริงหรือ และไม่มีทางป้องกันเลยหรือ

เคมีบำบัด หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า คีโม (คีโมเทอราปี : Chemotherapy) คือ การรักษาโรคมะเร็งด้วยยา โดยชนิดและระยะของโรคจะเป็นปัจจัยกำหนดว่า ต้องใช้ยาแค่ชนิดเดียวหรือหลายชนิดรวมกัน การให้เคมีบำบัดก็มีหลายวิธี แตกต่างกันไปตามชนิดโรคและชนิดยา เช่น ใช้กิน ใช้ฉีด เป็นต้น

เมื่อตัวยาเข้าสู่ร่างกาย จะออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็ง และยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง แต่อาจมีกระทบต่อเซลล์ปกติที่มีคุณสมบัติในการผลัดเซลล์และแบ่งตัวเร็ว จึงส่งผลให้เกิดผลข้างเคียง

สำหรับผลข้างเคียงจากการใช้ยาเคมีบำบัด มีทั้งอ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยตามร่างกาย ผมร่วง ติดเชื้อ การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ภาวะซีดหรือเม็ดเลือดขาวต่ำ เกิดแผลที่เยื่อบุภายในช่องปาก และอาการท้องผูก หรือถ่ายเหลว

ผลข้างเคียงที่กล่าวมานั้นมิได้เกิดกับผู้ป่วยทุกราย ในรายที่มีอาการก็ไม่ได้หมายความว่า ต้องมีอาการข้างต้นทั้งหมด ส่วนความรุนแรงจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของยา ระยะเวลาที่ได้รับ และสภาวะร่างกาย อย่างไรก็ตาม เมื่อยาหมดฤทธิ์อาการข้างเคียงจะค่อยๆ ลดลง และดีขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม มีผลข้างเคียงหลายอย่างที่ป้องกันกัน โดยแพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาให้ยาหรือมาตรการป้องกัน และให้ข้อมูลที่ละเอียดก่อนการให้ยา

ปัจจุบัน มียาเคมีบำบัดกลุ่มใหม่ๆ ที่ให้ผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย ประกอบกับยาที่ใช้ในการป้องกันและรักษาผลข้างเคียงที่มีประสิทธิภาพ อาทิ ยารักษาคลื่นไส้อาเจียนจากการได้รับยาเคมีบำบัด ซึ่งมีหลายขนานและสามารถคุมอาการข้างเคียงดังกล่าวได้ดีมาก

เมื่อรู้และเข้าใจเรื่องเคมีบำบัดแล้ว น่าจะช่วยคลายความวิตกกังวลของผู้ป่วยที่ต้องรับยาเคมีบำบัดลงได้ทางหนึ่ง



ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ภาพจาก Internet