วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

เคล็ดลับวิธีรับมือพฤติกรรมกินยากของลูก



เคล็ดลับวิธีรับมือพฤติกรรมกินยากของลูก

คุณพ่อคุณแม่เตรียมรับมือ 7 พฤติกรรมการกินที่อาจส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพลูกน้อย ต้องเริ่มต้นที่การฝึกพฤติกรรมการกินของลูกให้ถูกต้อง

    พญ.วิมล ลี้วิบูลย์ศิลป์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เผยว่า พฤติกรรมกินยาก ช่างเลือกนับเป็นปัญหาที่พบได้ในเด็กทั่วไปและพบบ่อยในเด็กอายุ 1-3 ขวบ ซึ่งหากลูกมี 1 ใน 7 พฤติกรรมการกินดังต่อไปนี้ อันได้แก่ กินแต่ขนม อมข้าว เลือกกิน เขี่ยอาหาร กินน้อย กินช้า กินซ้ำๆ

คุณพ่อคุณแม่ควรต้องเพิ่มความใส่ใจในท่าทีเหล่านี้เป็นพิเศษ แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของลูกและควรให้การดูแลเรื่องโภชนาการของลูกเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาภาวะโภชนาการไม่สมดุล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ 3 ด้าน อันได้แก่ ความฉลาด, ภูมิคุ้มกัน และการเติบโตของลูกน้อย

    เคล็ดลับวิธีรับมือพฤติกรรมกินยากของลูก ต้องเริ่มต้นที่การฝึกพฤติกรรมการกินของลูกให้ถูกต้อง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถนำ 7 เทคนิควิธีการแก้ไขพฤติกรรมการกินมาปรับใช้ นั่นก็คือ


1.คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี เด็กๆ มักมีพฤติกรรมเลียนแบบผู้ใหญ่ การนั่งรับประทานอาหารพร้อมลูกน้อยและการเป็นต้นแบบของพฤติกรรมการกินที่ดี อย่างเช่น การกินอาหารที่หลากหลายจะช่วยกระตุ้นให้ลูกอยากทำตาม


2.อย่าเอาของเล่น หรือสิ่งเร้าที่เด็กสนใจมาอยู่ใกล้ระหว่างมื้ออาหาร เป็นธรรมชาติของเด็กที่จะสนใจสิ่งรอบข้าง ดังนั้นควรนำของเล่นหรือสิ่งเร้าออกไปจากมื้ออาหาร เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้เด็กสนใจอาหารที่อยู่ตรงหน้ามากขึ้น



3.ศิลปะและจินตนาการของคุณแม่เป็นสิ่งสำคัญ การตกแต่งอาหารบนจานให้ดูสวยงาม น่ารักเพื่อดึงดูดความสนใจ หรือมีสีสันหลากหลายมัดใจหนูน้อย เป็นการกระตุ้นให้เด็กสนใจและเพิ่มความอยากอาหาร

4.อย่าให้กินของจุบจิบระหว่างมื้ออาหาร การกินอาหารจุบจิบจะทำให้ลูกกินอาหารที่มีประโยชน์ในมื้อหลักได้น้อยลง คุณแม่ต้องใจแข็งสร้างวินัยให้ลูกน้อยกินเป็นมื้อๆ

5.ซ่อนแอบสิ่งที่เด็กไม่ชอบ ซ่อนอาหารที่มีประโยชน์ แต่ลูกไม่ชอบด้วยการบดละเอียดและใช้เป็นส่วนผสมในเมนูโปรดของเขา

6.ชวนให้ลูกมีส่วนร่วม การเปิดโอกาสให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการทำอาหาร เป็นการสร้างความสนใจ และช่วยเพิ่มปริมาณอาหารที่รับประทาน

7.อย่าบังคับ ฝืนใจ และให้ของรางวัลล่อใจกับลูกน้อย การดุและบังคับจะทำให้เกิดบรรยากาศกดดัน ส่งผลให้เด็กเกิดความรู้สึกในแง่ลบต่ออาหาร ที่ถูกต้องคือ คุณพ่อคุณแม่ควรพูดในเชิงบวก เช่น ชื่นชมเมื่อลูกกินอาหารได้ หรือเล่านิทานระหว่างมื้อ เป็นต้น



ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  ภาพจาก Internet