วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

นอนกรน (ภาค 4)



           คลินิกหมอกิตติพันธุ์ – หมออมราภรณ์ สวัสดีค่ะ  หลังจากได้เรียนรู้เรื่องการนอนกรน มากันหลายภาคแล้ว  มารู้เรื่องการรักษากันดีกว่าค่ะ

นอนกรนรักษาได้หรือเปล่า
                  นอนกรน ........ รักษาได้   การรักษา ทำได้โดย วิธีไม่ผ่าตัด หรือ วิธีผ่าตัด  มีสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ 2 อย่าง ประการแรกคือ การหาตำแหน่งของทางเดินหายใจที่แคบที่เป็นปัญหา และประการที่สองคือ การประเมินความรุนแรงของอาการนอนกรน ว่าเป็นนอนกรนเสียงดังชนิดไม่อันตราย หรือนอนกรนชนิดอันตรายที่มีการหยุดหายใจจากทางเดินหายใจอุดตันขณะนอนหลับ ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ผู้ป่วยไม่สามารถทราบได้เอง จำเป็นต้องไปรับการตรวจกับแพทย์เฉพาะด้านนี้โดยตรง 

          เมื่อท่านไปปรึกษาแพทย์ ประวัติที่สำคัญที่แพทย์ต้องการทราบ อาทิเช่นอาการสำคัญที่นำมาพบแพทย์ โรคประจำตัว การใช้ยา ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ และอาการอื่นๆ ที่มี เพื่อนำมาประเมินความรุนแรงของการนอนกรนอย่างคร่าวๆ ชั่งน้ำหนักและวัดความสูง ตรวจความดันเลือด วัดรอบคอ ตรวจลักษณะโครงสร้างใบหน้า ตรวจจมูก ช่องคอ และทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด หลังจากนั้นแพทย์จะใช้กล้องส่องตรวจขนาดเล็กสอดเข้าไปทางรูจมูกเพื่อตรวจสภาพทางเดินหายใจส่วนบนอย่างละเอียด และส่งตรวจเอ็กซเรย์ ใบหน้า เพื่อหาตำแหน่งอุดตัน และดูรายละเอียดของทางเดินหายใจส่วนบน  ถ้าผลการตรวจข้างต้น มีลักษณะผิดปกติที่ทำให้แพทย์วินิจฉัยว่าท่านน่าจะเป็นโรคนอนกรนชนิดอันตราย แพทย์จะแนะนำให้ตรวจการนอนหลับ เพื่อให้ทราบว่า ท่านเป็นโรคนอนกรนชนิดอันตรายจริงหรือไม่ รุนแรงมากน้อยเท่าใด การหยุดหายใจมีผลกระทบต่อสมองและหัวใจแค่ไหน และสุดท้ายต้องการทดสอบว่าการรักษาจะได้ผลดีหรือไม่  


ถ้าเป็นโรคนอนกรนชนิดอันตรายแล้วจะมีขั้นตอนในการรักษาอย่างไร 
                  การรักษาโรคนอนกรน ในชั้นต้นอาจให้ผู้ป่วยลองใช้การรักษาโดยใช้เครื่อง CPAP ซึ่งเป็นเครื่องช่วยหายใจสำหรับติดที่จมูกสำหรับใส่ตอนนอน   เพื่อเป่าลมเข้าไปถ่างไม่ให้ทางเดินหายใจอุดตันโดยทั่วไปผู้ป่วยที่ใช้เครื่อง CPAP จะรู้สึกไม่สะดวกสบายในช่วงแรกเพราะไม่เคยชิน แต่เมื่อผ่านไปสักไม่กี่วัน จะรู้สึกว่า นอนหลับสนิทขึ้น ตื่นเช้ามารู้สึกสดชื่นแจ่มใส แล้วอาการง่วงเหงาหาวนอน ก็จะหายไปเป็นปลิดทิ้ง เหมือนใส่แว่นสายตาแล้วเห็นชัด ส่วนคนไหนรู้สึกว่าไม่สะดวกที่จะใช้เครื่อง CPAP ไปตลอดชีวิต หรือมีปัญหาในการใช้เครื่อง อาจเลือกการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบัน มีผลการรักษาอยู่ในเกณฑ์

ถ้าผู้ป่วยยังไม่อยากรับการรักษาตอนนี้ จะรอไปได้นานแค่ไหน 
                      ถ้าผลการตรวจการนอนหลับ พบว่ามีการหยุดหายใจน้อย และไม่มีโรคประจำตัว อย่างเช่นความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ก็ยังพอรอได้ แต่ต้องติดตามการรักษา ระหว่างนั้นควรควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกาย พยายามหลีกเลี่ยงท่านอนหงาย และห้ามกินเหล้าหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกประเภท รวมทั้งยาที่ทำให้ง่วงนอน เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ถ้าต่อมาพบว่าผลการตรวจการนอนหลับ มีการหยุดหายใจบ่อย หรือเกิดปัญหาโรคหัวใจ ความดัน สมอง หรือง่วงนอนมาก หลับในขณะขับรถ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ก็ควรจะเข้ารับการรักษาได้แล้ว เพราะสุขภาพที่เสียไปทุกวันทุกคืน ไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ และซ้ำร้ายอาจเกิดหัวใจทำงานผิดปกติ หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย ในขณะนอนหลับอยู่ (ไหลตาย) ได้

ข้อมูลจากคลินิกนอนกรน ร.พ.จุฬาลงกรณ์