วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เลือกรองเท้าอย่างไร...ให้เหมาะกับเท้า





คำถามที่เป็นประโยชน์จากนิตยสารหมอชาวบ้านเกี่ยวกับการเลือกรองเท้าให้เหมาะกับเท้าของแต่ละคน

ถาม : นิรมล/นครราชสีมา

           เวลาใส่รองเท้าแล้วจะปวดนิ้วและอุ้งเท้ามากเลยค่ะ เคยลองเปลี่ยนมาหลายแบบแล้วก็ไม่หาย มีวิธีการเลือกรองเท้าให้เข้ากับรูปทรงของเท้าตัวเองและเลือกให้เหมาะกับสุขภาพเท้าอย่างไรบ้าง

ตอบ : พญ.นวพร ชัชวาลพานิชย์

            การเลือกรองเท้าให้เหมาะสมกับเท้ามีหลักอยู่ว่า ใส่แล้วสบาย เดินได้ทั้งวัน ถ้ารองเท้าที่สวมใส่ไม่เหมาะสม เช่น ใส่รองเท้าหน้าแคบหรือรองเท้าส้นสูง อาจทำให้เกิดอาการปวดเท้าหรือมีความผิดปกติกัยรูปเท้า เนื่องจากเท้าถูกบีบรัดซึ่งลักษณะเท้าของแต่ละคนจะแตกต่างกัน เช่น

อุ้งเท้าแบน ทำให้ปวดบริเวณอุ้งเท้าส่วนกลาง เนื่องจากเอ็นซึ่งทำหน้าที่ยกอุ้งเท้าถูกดึงยืด ควรสวมรองเท้าเสริมอุ้งเท้า เพื่อพยุงไม่ให้ส้นเท้าบิดและเท้าล้มเข้าด้านใน

อุ้งเท้าสูง จะมีปัญหาปวดบริเวณฝ่าเท้าด้านหน้าและส้นเท้าเพราะการรับน้ำหนักของอุ้งเท้าส่วนกลางหายไป รองเท้าจึงควรมีลักษณะเสริมอุ้งเท้าเพื่อช่วยกระจายน้ำหนักจากฝ่าเท้าด้านหน้าและส้นเท้าที่อุ้งเท้า และควรเลือกรองเท้าที่มีพื้นนิ่มและมีความยืดหยุ่น

ปัญหาที่พบบ่อยในผู้ที่สวมใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำคือ ปวดฝ่าเท้าด้านหน้า ผู้ที่มีอาการนี้จึงควรใส่รองเท้าส้นเตี้ย มีพื้นนิ่ม และมีหน้ารองเท้ากว้าง เพื่อลดการบีบและเสียดสีของรองเท้า

ผู้ป่วยเบาหวาน ปลายประสาททำงานผิดปกติ ทำให้เท้าชา มีนิ้วเท้าหงิกงอ ฝ่าเท้าด้านหน้ารับน้ำหนักมาก และนิ้วเท้าเสียดสีกับหัวรองเท้า จึงควรเลือกใส่รองเท้าพื้นนิ่ม มีหัวลึกและกว้าง ห้ามใช้รองเท้าคีบเพราะอาจจะทำให้เกิดแผลบริเวณร่องนิ้วเท้าโดยไม่รู้ตัว

การเลือกรองเท้า ควรเลือกคู่ที่มีขนาดพอดีตัว คือ ส้นเท้าจะชิดส้นรองเท้าพอดีและมีด้านหน้าเหลือประมาณครึ่งนิ้ว จะต้องลองสวมใส่รองเท้าทั้ง ๒ ข้างเสมอ หากชอบใส่รองเท้าแตะ ควรเลือกที่มีพื้นนิ่มและเสริมบริเวณอุ้งเท้าถ้าต้องใส่รองเท้าส้นสูควรเลือกที่ใส่แล้วโค้งรับกับฝ่าเท้า เพื่อให้เท้ามีสุขภาพที่ดี

สำหรับรองเท้าส้นสูงมากๆ ถ้าใส่ออกงาน ๒-๓ ชั่วโมง คงไม่มีปัญหา ที่สำคัญคืออย่าใส่เดินทั้งวันเพราะจะมีปัญหากับสุขภาพเท้า

               ผู้ที่ใส่รองเท้าส้นสูงจะทำให้ช่วงหลังแอ่นมาก แต่สามารถคลายกล้ามเนื้อหลังได้ด้วยตัวเอง นั่นคือ นอนหงาย กอดเข่าขึ้น และดึงให้ชิดหน้าอก ค้างไว้ (นับ ๑-๑๐ ) แล้วจึงปล่อยเข่าลง

ขอบคุณ ข้อมูลจาก นิตยสาร หมอชาวบ้าน และ ภาพจาก Internet