วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

'บุหรี่' สารพัดโรคอันตราย


เผยข้อมูลจาก CDC (Centers of Disease Control and Prevention) ของสหรัฐอเมริกาปี 2543-2547 พบว่าการสูบบุหรี่มีผลต่ออัตราการเสียชีวิตในโรคสำคัญ มะเร็งปอดอันดับหนึ่ง

นพ.เจษฎา มณีชวขจร อายุรแพทย์มะเร็ง รพ.ราชวิถี กรรมการสมาคมมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย และแพทย์จากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกมาเผยข้อมูลจาก CDC (Centers of Disease Control and Prevention) ของสหรัฐอเมริกา ว่า เมื่อปี 2543-2547 พบว่าการสูบบุหรี่มีผลต่ออัตราการเสียชีวิตในโรคสำคัญต่างๆ ดังนี้ 1. มะเร็งปอด 29 เปอร์เซ็นต์ 2. มะเร็งชนิดอื่นๆ 8 เปอร์เซ็นต์ 3. หัวใจขาดเลือด 28 เปอร์เซ็นต์ 4. ถุงลมปอดโป่งพอง 21 เปอร์เซ็นต์ 5. สมองขาดเลือด 4 เปอร์เซ็นต์ และโรคอื่นๆ 10 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีสารหลายชนิดในส่วนประกอบของบุหรี่ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ได้แก่ 1. สารทาร์ หรือน้ำมันดิน เป็นส่วนประกอบสำคัญของใบยาสูบ มีลักษณะเหนียว สีน้ำตาลเข้ม เป็นสารก่อมะเร็ง โดยสารที่เรียกว่า Benzopyrene สารนี้ก่อการระคายเคืองเรื้อรัง ทำให้มีอาการไอ ถุงลมโป่งพอง 2. สารกัมมันตรังสี ในควันบุหรี่มีสารโพโลเนียม–210 ที่ให้รังสีแอลฟา ทำให้เกิดการระคายเคืองเรื้อรัง เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งอีกส่วนหนึ่ง และ 3. ยาฆ่าแมลงหรือสารตกค้างในใบยาสูบจากการพ่นสารพิษเพื่อฆ่าแมลง


แม้บุหรี่จะมีไส้กรองด้านท้ายบุหรี่ก่อนสูบเข้าสู่ร่างกาย แต่ก็ไม่สามารถกรองสารพิษเหล่านี้ได้ ในทางตรงกันข้าม การกรองสารเหล่านี้ให้ผ่านเข้าทางเดินหายใจด้วยขนาดเล็กลง จะทำให้เข้าสู่ถุงลมส่วนปลายได้ง่ายและเร็วขึ้น ในระยะหลังจึงพบพยาธิสภาพที่หลอดลมส่วนปลาย หรือถุงลมได้มากขึ้น และมีความรุนแรงของโรคมากขึ้น ไม่เหมือนหลอดลมส่วนต้น ผู้ป่วยมะเร็งปอดส่วนปลาย หรือบริเวณถุงลมปอด มักมาพบแพทย์ช้า

เนื่องจากในช่วงแรกไม่ค่อยมีอาการจนเมื่อเป็นมาก มีอาการเหนื่อยจึงมาพบแพทย์การรักษาด้วยยาเฉพาะจึงทำได้ยาก เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่แข็งแรงเพียงพอ ในสภาวะนี้ที่จะรับยาเคมีบำบัดหรือรับยาไม่เต็มที่ และผลตอบสนองต่อการรักษาที่ทำให้โรคมีขนาดเล็กลงก็มีไม่ถึงครึ่ง ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงคงที่หรือชะลอโรคเท่านั้น



การป้องกันหรือเฝ้าระวังในผู้ป่วยสูบบุหรี่ แม้จะพยายามเอกซเรย์ปอดทุก 6-12 เดือน ก็ไม่สามารถป้องกันได้เต็มที่ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น การเลี่ยงบุหรี่หรือลดความเสี่ยงน่าจะเป็นคำตอบมากกว่า โดยที่ถ้างดสูบบุหรี่ในวันนี้ จะส่งผลให้อุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งปอดลดลงเท่าคนไม่สูบบุหรี่ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า และโรคมะเร็งปอดส่วนใหญ่มักเป็นในอายุ 50-60 ปี ดังนั้น ท่านหรือคนใกล้ชิดท่านจึงไม่ควรรอที่จะงดสูบบุหรี่

สำหรับสถิติในประเทศไทย จากการสำรวจในปี 2544 พบว่ามีผู้สูบบุหรี่เป็นประจำจำนวน 10.6 ล้านคน หรือร้อยละ 20.6 ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 11 ปี  แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ มีการจำกัดอายุผู้ซื้อบุหรี่ มีการปกปิดเลี่ยงการโฆษณาสินค้าบุหรี่ทั้งในจุดจำหน่ายและผ่านสื่อ รวมถึงการแสดงคำเตือนหน้าซองบุหรี่ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ทำให้ผู้สูบบุหรี่ลดปริมาณได้มากนัก เนื่องมาจากการไม่เอาจริงจังในการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนทั่วไปมักละเลยในการแจ้งผู้เกี่ยวข้องให้ทำหน้าที่ จึงได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับผู้สูบบุหรี่ (passive smoker)

เมื่อเกิดผลกระทบจากพิษภัยบุหรี่ ท่านที่มีคนใกล้ชิดเป็นโรคเหล่านี้ ได้แก่ มะเร็งปอด, ถุงลมโป่งพอง, หัวใจขาดเลือด เป็นต้น คงทราบดีว่าต้องมีภาระที่จะต้องดูแลผู้ป่วยเหล่านี้มากเพียงใด รวมทั้งมีภาระค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะในโรคมะเร็งที่รักษาไม่หายขาด ได้แต่บรรเทาอาการ ถ้าผู้ป่วยเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญเป็นเสาหลักของครอบครัว ก็เท่ากับทำให้ครอบครัวเหล่านั้นเดือดร้อนและเป็นภาระต่อสังคมรวมถึงประเทศชาติ

เนื่องในโอกาสวันที่ 31 พ.ค.ของทุกปี ซึ่งเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก เราจึงควรเลือกเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามเลิกสูบบุหรี่ อย่างน้อยก็คนใกล้ตัวหรือตนเอง เพื่อนสนิท ผู้ร่วมงาน รวมถึงผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือที่ยังสูบบุหรี่อยู่ สำหรับบุคคลทั่วไปก็ควรทำหน้าที่แจ้งเตือนผู้สูบบุหรี่ หรือผู้เกี่ยวข้องที่ทำหน้าที่ควบคุมกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง ส่วนหน่วยงานภาครัฐก็น่าจะทำให้บุหรี่ซื้อหาได้ยากขึ้น หรือจัดอยู่หมวดสินค้าควบคุม ที่อาจเสพติดได้ เช่น ยานอนหลับ ซึ่งไม่อาจซื้อได้ในสถานที่ทั่วไป รวมทั้งเข้มงวดกวดขันการจำหน่ายบุหรี่ ทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย ซึ่งเรามักพบในตลาดทั่วไปหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ต่างประเทศหรือบุหรี่ในประเทศที่ขายทั้งใบยาและเครื่องมวนบุหรี่เอง

นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐยังควรส่งเสริมการเลิกบุหรี่โดยตั้งเป็นศูนย์บำบัด เช่นเดียวกับยาเสพติดโดยใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ จากภาษีบุหรี่ที่ได้รับมาดีกว่านำเงินนี้ไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นๆ ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณโดยรวมของประเทศ และได้กำลังสำคัญของชาติกลับคืนมา





ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และ webสสส.